แนะนำจังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ด (Roi Et) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า 200 ปี อดีตเคยเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก ชื่อว่า สาเกตุนคร มีประตูเข้าเมือง 11 ประตู เมืองขึ้น 11 เมือง แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย เมืองร้อยเอ็ดเป็นเมืองแห่งบึงพลาญชัย และมีส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีชื่อเสียง มีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึงสองล้านไร่เศษ ซึ่งได้รับการพัฒนาเพื่อให้เป็นแผ่นดินแห่งความอุดมสมบูรณ์ จนแทบจะหาร่องรอยความแห้งแล้งในอดีตไม่พบ
จังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ 8,299.4 ตารางกิโลเมตร และแบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอเมืองร้อยเอ็ด 2.อำเภอเกษตรวิสัย 3.อำเภอปทุมรัตน์ 4.อำเภอจตุรพักตร์พิมาน 5.อำเภอธวัชบุรี 6.อำเภอพนมไพร 7.อำเภอโพนทอง 8.อำเภอเสลภูมิ 9.อำเภอสุวรรณภูมิ 10.อำเภออาจสามารถ 11.อำเภอหนองพอก 12.อำเภอเมืองสรวง 13.อำเภอโพธิ์ชัย 14.อำเภอโพนทราย 15.อำเภอเมยวดี16.อำเภอศรีสมเด็จ 17.อำเภอจังหาร 18.อำเภอทุ่งเขาหลวง และ กิ่งอำเภอเชียงขวัญ,กิ่งอำเภอหนองฮี
อาณาเขตและที่ตั้ง จังหวัดร้อยเอ็ดตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ ประมาณ 509 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 8,799.5 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 5,187,155 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 5.1 ของภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ร้อยละ 1.6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่นๆ ดังนี้
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอวาปีปทุม และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
ภูมิอากาศ ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัด อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด โดยพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว เรียกว่ามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อิทธิพลของลมนี้ จะทำให้บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด ประสบกับภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง มรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ลมนี้จะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ ลมนี้จะพัดอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไป จังหวัดร้อยเอ็ดตั้งอยู่ในเขตร้อนและแห้งแล้ง มี 3 ฤดู ได้แก่
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน พฤษภาคม
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ถึงเดือน ตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม ถึงเดือน กุมภาพันธ์
อุณหภูมิเฉลี่ย ตลอดปีสูงสุด 35.33 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยตลอดปีต่ำสุด 18.15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39.70 องศาเซลเซียส วัดได้เมื่อเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุด 9.50 องศาเซลเซียส วัดได้เมื่อเดือนมกราคม
ปริมาณน้ำฝน วัดได้ตลอดปี รวม 957.5 มิลลิเมตร มีฝนตกหนักที่สุดในเดือนกันยายน วัดได้รวม 196.8 มิลลิเมตร มีฝนตกรวม 103 วัน
ทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ จังหวัดร้อยเอ็ดไม่มีแร่ธาตุที่สำคัญเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ แร่ที่สำคัญของจังหวัดคือ หินเกลือ,ฟอสเฟต และแทนตาไลท์ แร่ธาตุเหล่านี้มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอธวัชบุรี สุวรรณภูมิ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด และอำเภอจตุรพักตรพิมาน เนื่องจากปริมาณที่กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ และมีปริมาณไม่มากพอในเชิงพาณิชย์ การแร่ธาตุดังกล่าวนี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์ต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ป่าไม้ จังหวัดร้อยเอ็ดมีป่าไม้เพียงเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 9 ของพื้นที่จังหวัด เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 10 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 459,307 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอหนองพอก อำเภอโพนทอง อำเภอโพธิ์ชัย และอำเภอเมยวดี ซึ่งมีอยู่ในเขตอำเภอพนมไพร ชนิดของไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ยาง ไม้เหียง ไม้ตะแบก และไม้ประดู่ ซึ่งร้อยละ 65 เป็นป่าเสื่อมโทรมและมีราษฎรบุกรุก เช่น ป่าสงวนดงแม่เผดที่อำเภอโพธิ์ชัย สาเหตุเนื่องจากราฎษรขาดแคลนที่ดินทำกิน ปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเหลือเพียง 137,289.50 ไร่ หรือร้อยละ 2.8 ของพื้นที่จังหวัด ซึ่งผลจากการที่จังหวัดมีพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 9 จากที่ควรจะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา และก่อให้เกิดความแห้งแล้งในจังหวัด ฝนไม่ตกตามฤดู และนับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของจังหวัด
คำขวัญประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
คำขวัญเดิม
ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน พลาญชัยบึงงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมชั้นดี สตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่ บุญผะเหวด
คำขวัญใหม่
จังหวัดร้อยเอ็ด ปรับปรุงคำขวัญใหม่ เพื่อสอดคล้องและครอบคลุมกับสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยประกาศใช้เป็นคำขวัญของจังหวัด เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ มีข้อความว่า
สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่
ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี
มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย
เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ
สัญลักษณ์จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเกาะกลางบึงพลาญชัย มีธงปลิวไสวอยู่บนยอดเสา บ่งบอกถึงความเป็นเอกราชของชาติไทย พื้นน้ำใสเย็น ชุ่มฉ่ำเหมือนน้ำใจของชาวร้อยเอ็ด มีดอกบัวหลวงชูช่อกัน แสดงถึงความเป็นพุทธศาสนิกชน นับถือศาสนาพุทธ อันเป็นศาสนา ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำจังหวัด : อินทนิลบก (Lagerstroemia macracarpa)
ต้นไม้ประจำจังหวัด : กระบก
เครื่องดนตรีประจำจังหวัด : โหวด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น